‘วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิงสนุกกันจริงวันลอยกระทง’

   29 พ.ย. 66  /   77

กระทงอาจจะหลงทาง ธุรกิจอ้างว้างให้นึกถึงเรา 
สวัสดีค่ะวันนี้ SSIP เล่าเรื่องประเพณีวันลอยกระทงกันค่ะ 
************************************************
#ประเพณีการลอยกระทง ที่มีกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ 
#ลอยเคราะห์ หรือ #ซ้ำเติม สิ่งแวดล้อม 
--------------------------------------------------
‘วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิงสนุกกันจริงวันลอยกระทง’
เชื่อว่าเนื้อร้องของเพลงนี้น่าจะคุ้นหู  ชาวไทยมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ จนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พูดได้เต็มปากว่าใครๆ ก็น่าจะต้องร้องได้อย่างแน่นอน สำหรับในปีนี้ #วันลอยกระทง ตรงกับวันจันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2566

 เพลงดังกล่าวเป็นการบอกเล่าถึงประเพณีที่คนไทยปฏิบัติสืบต่อกันมานาน ซึ่งก็คือ ‘การลอยกระทง’ อันมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงออกซึ่งการเคารพต่อแม่น้ำลำคลอง ตามความเชื่อที่ว่ามี ‘พระแม่คงคา’ ในฐานะเทพศักดิ์สิทธิ์ดูแลอยู่ 

ย้อนเวลาไปกับพวกเรา
SSIP TSU จะพาย้อนกลับไปดูว่า ที่ผ่านมาเราคนไทยรู้จักประเพณีนี้ในแง่มุมไหน และการลอยกระทงในปัจจุบันแสดงออกถึง #ความเคารพ รักษ์ ใส่ใจต่อแม่น้ำมากเพียงใด และเราจะรักษามลภาวะทางน้ำไปพร้อมๆ กับการลอยกระทง ไม่สร้างภาระให้แหล่งน้ำได้อย่างไร ซึ่งปัจจุบันเป็นข้อถกเถียงกันอยู่มาก

ตำนานและความเชื่อ ‘วันลอยกระทง’
สำหรับ ประเพณีลอยกระทง มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การลอยกระทงเป็นพิธีกรรมร่วมกันของผู้คนในชุมชน ทั้งสุวรรณภูมิหรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์เพื่อขอขมาต่อธรรมชาติอันมีดินและน้ำที่หล่อเลี้ยง ตลอดจนพืชและสัตว์ที่เกื้อกูลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ มนุษย์จึงมีชีวิตเจริญเติบโตขึ้นได้ แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าลอยกระทงเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไร แต่พิธีกรรมเกี่ยวกับ ‘ผี’  ผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติมีอยู่กับผู้คนในชุมชนสุวรรณภูมิไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้วตั้งแต่ก่อนรับศาสนาพุทธ-พราหมณ์จากอินเดีย

มนุษย์อุษาคเนย์รู้ว่าที่มีชีวิตอยู่ได้เพราะน้ำและดินเป็นสำคัญ โดยน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเป็นบ่อเกิดของสิ่งมีชีวิต เมื่อคนเรามีชีวิตอยู่รอดได้ปีหนึ่ง จึงทำพิธีขอขมาที่ได้ล่วงล้ำก้ำเกินโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (เช่น เหยียบย่ำ ขับถ่าย ทิ้งของเสีย สิ่งปฏิกูล และอาจทำสิ่งอื่นที่ไม่เหมาะสม) โดยใช้วัสดุที่ลอยน้ำได้ใส่เครื่องเซ่นให้ลอยไปกับน้ำ เช่น ต้นกล้วย กระบอกไม้ไผ่ ฯลฯ ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่คนเรารู้จักจากประสบการณ์ธรรมชาติ คือ สิ้นฤดูกาลเก่า เดือน 12 ขึ้นฤดูกาลใหม่ เดือนอ้าย ตามจันทรคติ ที่มีดวงจันทร์เป็นศูนย์กลาง เพราะเป็นสิ่งที่มีอำนาจทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลง 

การลอยกระทงของไทยนับแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน
กว่าจะมาถึงการลอยกระทง #ยุคไทยแลนด์ 4.0 การเดินทางของประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพิธีกรรม และอะไรต่อมิอะไรก็ได้เปลี่ยนแปลงมาตามกาลเวลา

สำหรับในประเทศไทยการลอยกระทงเป็นประเพณีที่ชาวไทยสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้จะไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด เพราะในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยและเอกสารร่วมสมัยก็ไม่มีปรากฏชื่อ ‘ลอยกระทง’ แม้แต่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงก็มีแต่ชื่อ ‘เผาเทียนเล่นไฟ’ ที่มีความหมายอย่างกว้างๆ ว่าการทำบุญไหว้พระ

เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้ฟื้นฟูประเพณีพิธีกรรมสำคัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือ นางนพมาศ ขึ้นมาโดยสมมติให้ฉากของเรื่องเกิดขึ้นในยุคพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย ซึ่งตำราดังกล่าวได้พูดถึงนางนพมาศว่าเป็นสนมเอกของพระร่วง ที่ได้คิดประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงเกิด กระทงทำด้วยใบตองแทนวัสดุอื่นๆ 

ขยะมหาศาล และมลพิษ ที่มากับการลอยกระทง
เทศกาลลอยกระทงที่จัดขึ้นทุกปี ทั้งในกรุงเทพมหานครและตามต่างจังหวัด เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อพระแม่คงคา หรือ แม่น้ำ สายน้ำ ที่คนไทยใช้อุปโภคบริโภค แต่สิ่งที่เหลือจากงานลอยกระทงมีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกปีก็คือ ‘ขยะ’ 

และในทุกๆ ปี เมื่อผ่านคืนวันลอยกระทง สิ่งที่ตามมาคือซากกระทงจำนวนมากที่ลอยอยู่ในแม่น้ำลำคลองหลายแห่ง จากสถิติของศูนย์ข้อมูลกรุงเทพมหานคร พบว่า สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. รายงานจำนวนกระทงที่เก็บได้ ปี 2565 มีจำนวน 572,602 ใบ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่จัดเก็บได้ 403,203 ใบ เพิ่มขึ้นจำนวน 169,367 ใบ คิดเป็นร้อยละ 42 โดยประเภทที่จัดเก็บได้ทำจากวัสดุธรรมชาติ 548,086 ใบ หรือร้อยละ 95.7 และทำจากโฟม 24,516 ใบ หรือร้อยละ 4.3 

กระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 96.5 เป็น 95.7 ส่วนสัดส่วนของโฟมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.5 เป็น 4.3
สาเหตุนี้ที่ทำให้ทุกภาคส่วนได้มีการรณรงค์ให้ใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติ และประชาชนให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

แล้วเราคนไทยจะช่วยให้วันลอยกระทงรอดพ้นจากขยะมหาศาลอย่างไร
นพ. ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย ได้ขอความร่วมมือมายังประชาชนในการสืบสานประเพณีลอยกระทงที่ดีงาม โดยเสนอหลัก 4 เลือก 2 ลด ดังนี้ 

1. เลือกกระทงให้เหมาะกับแหล่งน้ำที่จะไปลอย เช่น กระทงขนมปัง ควรลอยในแหล่งน้ำที่มีปลากินขนมปัง กระทงหยวกกล้วยเหมาะกับแหล่งน้ำที่มีเจ้าหน้าที่เก็บขนขึ้นมาและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เช่น นำไป #หมักทำปุ๋ย

2. เลือกกระทงที่ทำจากวัสดุจาก #ธรรมชาติ เก็บขนได้ทัน ไม่มีสารก่อมลพิษต่อแหล่งน้ำ ป้องกันน้ำเน่าเสีย เช่น ทำจากต้นกล้วย, หยวกกล้วย, ใบตอง

3. เลือกกระทงที่ไม่ใช้วัสดุหลากหลายเกินไป เพื่อลดภาระการคัดแยกก่อนนำไปกำจัด เลี่ยงกระทงที่มีเข็มหมุด พลาสติก โฟม เพราะย่อยสลายยากและเป็น #ขยะ ในแหล่งน้ำได้

4. เลือก #ลอยกระทงออนไลน์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปลอยนอกสถานที่ และช่วยลดปริมาณขยะได้

5. #ลดขนาดกระทง ลอยขนาดเล็กแทนขนาดใหญ่ เพราะใช้วัสดุน้อยกว่า ขยะน้อยกว่า

6. ลดจำนวนเหลือ 1 กระทงลอยร่วมกัน ช่วยลดขยะและ #ประหยัดเงิน เช่น มากันเป็นครอบครัว ครอบครัวละ 1 ใบ มาเป็นกลุ่มเพื่อน กลุ่มละ 1 ใบ มากับแฟนลอยกระทงร่วมกัน 1 ใบ เป็นการสานสัมพันธ์ที่ดี

ลอยกระทงปีนี้ อย่าลืมรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยนะคะ
ติดตามข้อมูลข่าวสารของ SSIP TSU
- Facebook.com
: https://www.facebook.com/SSIPTSU
- Website : https://ssip.tsu.ac.th/
- Youtube : @SSIP_TSU
- TIKTOK : @ssiptsu
ติดต่อสอบถามได้ที่ : m.me/SSIPTSU
#SSIP #TSU #SSIPTSU #อุทยานวิทยาศาสตร์ #อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม